การนำเข้าของใช้ส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือน

ของใช้ส่วนตัว หมายถึง ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า หนังสือ มีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เว้นแต่รถยนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืน และ เสบียง แต่สุรา บุหรี่ ซิการ์หรือยาเส้นซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามาพร้อมกับตนนั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ แต่ต้องไม่เกินปริมาณดังนี้
  1. บุหรี่สองร้อยมวน หรือซิการ์ หรือยาเส้นอย่างละสองร้อยห้าสิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมดสองร้อยห้าสิบกรัม
    แต่ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกินสองร้อยมวน
  2. สุราหนึ่งลิตร
ของใช้ในบ้านเรือน หมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัวซึ่งผู้เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร นำติดตัวเข้ามาในหรือออกไปพร้อมกับตนและเป็นของที่ผู้นำเข้าใช้สอยตามปกติระหว่างอยู่ต่างประเทศ โดยผู้นำเข้าของใช้ในบ้านเรือนต้องมีกรรมสิทธิ์ในของนั้น ๆ อยู่ก่อนการย้ายภูมิลำเนา เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับ ฯลฯ ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้วดังกล่าว เจ้าของต้องนำเข้ามาพร้อมกับตน เนื่องจากในการย้ายภูมิลำเนาและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะจะได้รับสิทธิยกเว้นอากร

หลักเกณฑ์การพิจารณายกเว้นอากรของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้ว

  1. ของใช้ในบ้านเรือนที่จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าได้ ผู้นำเข้าจะต้องเป็นบุคคลที่ได้ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาตั้งในประเทศไทย ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศ และจำนวนของใช้ในบ้านเรือนที่จะยกเว้นอากรให้ได้ จะพิจารณาเท่าที่เป็นจำนวนพอสมควรที่พึงมีพึงใช้ตามปกติวิสัย และผ่านการใช้งานแล้ว โดยต้องเป็นของที่นำเข้ามาจากประเทศซึ่งผู้นำเข้ามีภูมิลำเนาอยู่ก่อนที่จะย้ายเข้ามามีภูมิลำเนาในประเทศไทย สำหรับของใช้ในบ้านเรือนที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น วิทยุ ถ้ามีการนำเข้ามาก็จะยกเว้นให้เพียง 1 เครื่อง ถ้ามีมากกว่า 1 เครื่อง จะยกเว้นอากรให้เพียง 1 เครื่องเท่านั้น ยกเว้นการย้ายภูมิลำเนาทั้งครอบครัว ให้ได้รับยกเว้นอากรได้อย่างละ 2 เครื่อง และเครื่องที่ยกเว้นค่าอากรให้นั้นต้องเป็นเครื่องที่มีค่าอากรต่ำสุด นอกจากวิทยุแล้วอาจมีตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ ให้ถือเกณฑ์เดียวกับวิทยุ ของใช้ในบ้านเรือนดังกล่าว จะต้องนำเข้ามาถึงประเทศไทยไม่เกิน 1 เดือน ก่อนผู้นำของเข้ามาถึง หรือไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึง อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจขยายกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้นได้ เมื่อเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษ
  2. ชาวต่างชาติที่ย้ายภูมิลำเนามาตั้งในราชอาณาจักร และข้าราชการไทยที่ไปประจำตำแหน่งในต่างประเทศนั้น ให้ได้รับยกเว้นอากรของใช้ภายในบ้านเรือนเท่าที่เป็นจำนวนพอสมควรตามข้อ (1.1)
  3. นักเรียนไทย หรือข้าราชการไทยที่ไปศึกษาวิชา หรือดูงานในต่างประเทศ และคนไทยที่ออกไปอยู่ต่างประเทศ ให้ได้รับยกเว้นอากรของใช้ในบ้านเรือนได้ ในกรณีที่มีกรรมสิทธิ์ในของนั้นและได้ใช้สอยอยู่ในต่างประเทศตามปกติก่อนจะเข้ามาในประเทศไทย และของนั้นจะต้องมีจำนวนเท่าที่พอสมควร และต้องมีหลักฐานแสดงว่าได้ไปอยู่ในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ปี
  4. การย้ายภูมิลำเนานั้น ให้ถือเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้

                     - ชาวต่างประเทศ

                         (1) ชาวต่างประเทศที่ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร ต้องเป็นผู้ได้รับโควต้าเข้าเมืองตามที่ ปรากฏในหนังสือเดินทาง หรือใบประจำตัวคนต่างด้าว หรือ

                         (2) ชาวต่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้ามาประกอบอาชีพในราชอาณาจักร จะได้รับการอนุโลมให้ถือว่าย้ายภูมิลำเนาต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่าบุคคลผู้นี้จะให้อยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี กรณีที่ยังไม่ได้รับอนุญาตแต่เป็นเรื่องรีบด่วนต้องยื่นเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบการพิจารณา คือ

        1. หนังสือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรับรองว่าจะได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวเป็นปีๆ ไป
        2. หนังสืออนุญาตของกรมแรงงานว่า ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

                         (3) ชาวต่างประเทศที่เข้ามาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการพิเศษ หรือภายใต้สัญญาจ้างของหน่วยราชการ ต้องมีหนังสือหน่วยราชการนั้นๆ รับรองว่าบุคคลผู้นั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศในประเภท NON IMMIGRANT แล้ว และจะอยู่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 1 ปี

      กรณีชาวต่างประเทศที่ย้ายภูมิลำเนาตามสามีหรือภรรยา ตามข้อ (2) และ (3) มาด้วย และหากปรากฏว่าสามีหรือภรรยานั้นได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปีแล้ว หากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้อนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ครั้งแรก 90 วัน ก็ให้อนุโลมว่าผู้ติดตามนั้นย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
      หมายเหตุ ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรประเภท Non-Immigrant O ที่เข้ามาใช้ชีวิตบั้นปลาย หรือ ติดตามภรรยาชาวไทยเข้ามาไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม (1)

                     - ชาวไทย

      1. ชาวไทยหรือข้าราชการไทยที่ไปทำงาน หรือดำรงตำแหน่งในต่างประเทศหรือดูงานในต่างประเทศต้องอยู่ประจำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี กรณีที่ต้องเดินทางกลับก่อนกำหนด 1 ปี ต้องมีหลักฐานมาแสดงว่าได้เดินทางกลับเนื่องจากสิ้นสุดสัญญาการจ้าง หรือได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในราชอาณาจักร หรือเสร็จสิ้นการดูงานก่อนกำหนด
      2. ชาวไทยที่ไปอยู่ประจำในต่างประเทศในกรณีอื่นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องให้คำรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะกลับเข้ามามีภูมิลำเนาในประเทศไทย

เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำเข้าของใช้ในบ้านเรือน

  1. ใบขนสินค้าขาเข้าฉบับร่าง
  2. หนังสือเดินทาง (Passport)
  3. กรณีเป็นชาวต่างประเทศที่ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในประเทศไทยต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    1. หนังสือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรับรองว่าจะได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวเป็นปีๆ ไป
    2. หนังสืออนุญาตของกรมการจัดหางานว่า ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศไทยแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
    3. ชาวต่างประเทศที่เข้ามาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการพิเศษ หรือภายใต้สัญญาจ้างของหน่วยราชการ ต้องมีหนังสือของหน่วยราชการนั้นๆ รับรองว่าบุคคลผู้นั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศในประเภท NON-IMMIGRANT แล้ว และจะอยู่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 1 ปี
  4. กรณีชาวไทยต้องแสดงหลักฐานแสดงว่ามีการย้ายภูมิลำเนา เช่น ใบรับรองจบการศึกษา คำสั่งย้าย หนังสือสัญญาสิ้นสุดการจ้าง
  5. ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading /Air Waybill)
  6. บัญชีราคาสินค้า (Invoice) (ถ้ามี)
  7. บัญชีรายการสิ่งของ (Packing List) หรือเอกสารซื้อขาย (ถ้ามี)
  8. ใบอนุญาต กรณีเป็นสินค้าควบคุมการนำเข้า
  9. แบบคำร้องขอยกเว้นอากร
  10. เอกสารอื่น ๆ เช่น หนังสือมอบอำนาจ หรือหนังสือแจ้งผลตรวจสอบข้อมูลการเดินทางของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรณีที่การประทับตราเดินทางเข้า-ออก ไม่ครบถ้วน เนื่องจากการเข้า-ออก ประเทศไทยโดยผ่านระบบการตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic Channel)

ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าของใช้ในบ้านเรือน

  1. ผู้นำเข้าหรือตัวแทนยื่นคำร้องขอยกเว้นอากร และเอกสารประกอบต่อฝ่ายเอกสิทธิ์และส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรกรท่าเรือกรุงเทพ หรือ สำนักงานศุลกากร/ด่านศุลกากรที่นำเข้า
  2. เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสารและพิจารณาสิทธิในการยกเว้นอากร หากมีของใช้ในบ้านเรือนเข้ามาแต่ไม่มีลักษณะได้รับยกเว้นอากร กรมศุลกากรก็จะดำเนินการเรียกเก็บอากรตามปกติ
  3. กรมศุลกากรคืนเอกสารที่ตรวจสอบแล้วให้ผู้นำเข้า เพื่อให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนจัดทำและส่งข้อมูลใบขนสินค้าและนำไปชำระภาษีอากร (ถ้ามี) ต่อไป
  4. การรับมอบของไปจากอารักขาของศุลกากร ผู้นำเข้าหรือตัวแทนนำใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมเอกสาร ไปขอรับสินค้า ณ ฝ่ายบริการศุลกากร เพื่อจะทำการตรวจปล่อยสินค้า เช่นเดียวกับการตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าตามปกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

หากมีข้อสอบถามหรือข้อเสนอแนะประการใดโปรดติดต่อ
ฝ่ายเอกสิทธิ์และส่งเสริมการลงทุนส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ
โทร. 0-2667-7000 ต่อ 20-5523, 20-7638 หรือ 20-5539

ฝ่ายเอกสิทธิ์และส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โทร. 0-2667-7000 ต่อ 25-3216 หรือ 0-2134-1252
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 8 ตุลาคม 2561 15:27:16
จำนวนผู้เข้าชม : 391,338
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สผภ.)
อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540
หมายเลขโทรศัพท์ : 02-134-0400
อีเมล์ : 67000000@customs.go.th

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร